ใช้หุ่นยนต์ช่วยในการสร้างยาปฏิชีวนะใหม่



ธรรมชาติถือเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของสารประกอบทางเคมี ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลากหลายชนิด ทว่าสารเคมีที่น่าสนใจที่สุดมักมาจากสิ่งมีชีวิต ทว่านำมาใช้งานได้ยากในห้องปฏิบัติการทดลอง โดยเฉพาะสารประกอบเคมีประเภทพอลิคีไทด์ (polyketides) คือกลุ่มสารเคมีที่สำคัญซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดยแบคทีเรียในดินและจุลินทรีย์อื่นๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ เผยความสำเร็จในการสร้างแบคทีเรียลำไส้ที่พบบ่อยเพื่อผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ด้วยการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วย ยาปฏิชีวนะดังกล่าวรู้จักกันในชื่อพอลิคีไทด์ คลาสทู (polyketides Class II) เกิดจากแบคทีเรียในดินตามธรรมชาติและมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย อันมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่ที่เชื่อว่าจะนำไปใช้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อและโรคมะเร็งได้
การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นศักยภาพของวิธีการรวมเครื่องจักรกลการผลิตแบคทีเรียเข้ากับเอนไซม์จากพืชและเชื้อรา จนเกิดความเป็นไปได้ที่จะสร้างสารประกอบทางเคมีใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในธรรมชาติ และไม่เพียงช่วยให้นักวิจัยทดลองสารพอลิคีไทด์ใหม่ได้แบบอัตโนมัติ แต่ยังจะสามารถเขียนลำดับดีเอ็นเอของเส้นทางการสังเคราะห์ยาปฏิชีวนะได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเผยว่าน่าจะใช้เวลาราว 1 ปีในการสร้างและทดสอบยาปฏิชีวนะที่อาจเกิดขึ้นได้ถึงสิบชนิด.
อ้างอิง : https://www.thairath.co.th (ข่าวจากวันที่ 26 ก.ค. 2562)

Comments